เครนเสายื่นแขนยกหมุน มีความเหมาะสมใช้สำหรับงานยกวัตถุงานหรือสินค้าเฉพาะพื้นที่ รอบวงรัศมีความยาวของวงแขนที่ยื่นหมุนของชุดเครน ซึ่งการออกแบบเครนชนิดนี้ต้องคิดถึงความต้องการ 4 ประการที่ต้องตอบคำถามให้ผู้ออกแบบเครนคือ
1. ขนาดน้ำหนักที่ต้องการยกน้ำหนักวัตถุ ซึ่งส่วนใหญ่เครนชนิดนี้นิยมทำเป็นเครนแบบคานเดี่ยว และใช้ยกน้ำหนักไม่หนักมาก ประมาณ 100 กิโลกรัม ถึง 5 ตัน
2. ระยะความสูงในการยกวัตถุ จากพื้นถึงระยะตะขอสูงสุดที่รอกแขวนใต้คานแขนยื่น (Hook Path) ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ความสูงในการยกไม่เกิน 5 เมตร
3. ระยะแขนยื่นเพื่อให้รอกไฟฟ้าสามารถเลื่อนใช้งานเข้าออกจากศูนย์กลางถึงปลายเสาได้ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้ระยะแขนยื่นใช้งานให้รอกไฟฟ้าเลื่อนได้ประมาณ 5 เมตร เพราะจะต้องเสียระยะเริ่มต้นเพื่อยึดเป็นจุดหมุน และรองรับแขนที่ยื่นออกไปประมาณเกือบ 1 เมตร
4. ระยะรัศมีของวงแขนหมุนเพื่อให้เครนหมุนใช้งานได้ตามองศาที่ต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่นิยมใช้กันอยู่ที่ 180, 270, 360 องศา แล้วมีลิมิตสวิทช์ตัดการทำงานและชุดกันชนเพื่อให้เครนหมุนย้อนกลับ และแบบที่หมุนได้ 360 องศารอบตัวเองแบบไม่มีการตัดหยุดได้
สำหรับสิ่งสำคัญก่อนการติดตั้งเครนตั้งเสายื่นแขนหมุนคือต้องเตรียมทำฐานรากเพื่อรองรับเครนตั้งเสาให้แข็งแรง เพราะเครนชนิดนี้ เมื่อยกน้ำหนักขึ้นที่ปลายแขน โครงสร้างเครนจะเกิดแรงกด และแรงดึงถอนที่แผ่นเหล็กรองรับฐานเสา จึงไม่ควรใช้น็อตสกูรขนาดเล็กๆ สั้นๆ เจาะฝังยึดแผ่นเหล็กรองรับฐานเสาเครนไว้ ซึ่งมันจะไม่สามารถรับแรงดึงถอนได้ และจะทำให้ชุดเครนล้มลงเป็นอันตรายได้ สำหรับฐานรากที่แข็งแรง ควรหล่อเป็นแบบคอนกรีตใต้พื้น ผูกเหล็กโครงสร้าง และใช้ J-Bolt ผูกฝังยึดโผล่ขึ้นมาตามรูแบบแผ่นเหล็กฐานเสาของผู้ผลิตเครน โดยให้ขอแบบขนาดฐานรากคอนกรีตได้จากผู้ออกแบบ ซึ่งจะมีความเหมาะสม ถูกต้อง และปลอดภัยกว่า
|